โครงการนวัตกรรมท้องถิ่น“ โครงการพลังงานเพื่อชีวิต (Energy for Life)”
ลักษณะโครงการนวัตกรรมโครงการที่ต่อยอดจากโครงการเดิม ซึ่งได้ริเริ่มไว้ในปี พ.ศ.๒๕๕๖
๑ การดำเนินกิจกรรมจัดการขยะในสถานที่ซึ่งไม่มีไฟฟ้าใช้
เทศบาลตำบลปริกเป็นเทศบาลขนาดเล็กที่มีเงื่อนไขและข้อจำกัดด้านงบประมาณและทรัพยากรมาโดยตลอด แต่ไม่ยอมจำนนต่อปัญหา นับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2552 เป็นต้นมา จึงได้กำหนดนโยบายการจัดการขยะแบบพึ่งตนเองขึ้น ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง พบว่า ส่วนใหญ่ของขยะเหลือค้าง ณ แหล่งปลายทาง คือ พลาสติก ต่อมาในปี พ.ศ.2556-2557 จึงได้สร้างพันธมิตรเพื่อร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ บริษัท ปตท. เพื่อจัดทำเครื่องคัดแยกขยะ โรงอบ และเครื่องสะบัดขยะ ประกอบกับเทศบาลตำบลปริกมีเป้าหมายในการพัฒนาสถานที่ แห่งนี้ให้สามารถดำเนินกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก จึงเกิดแนวคิดขยายผลต่อจากการจัดการขยะ เช่น การผลิตดินสำหรับเพาะปลูก ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ ใช้ดินและปุ๋ยที่ทำขึ้นเองเพื่อปลูกผัก ต้นไม้ ส่วนที่เหลือ นำไปจำหน่าย และในอนาคตจะนำขยะพลาสติกที่ได้จากการคัดแยกมาแปรรูป และทำเป็นวัสดุเชื้อเพลิงเพื่อจำหน่ายต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้แหล่งดังกล่าวพัฒนาไปสู่การเป็น “ศูนย์เรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง( Integrated Learning Center for Sufficiency Economy : ILC3)”สำหรับประชากรกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ และเครือข่ายองค์กรปกครองท้องถิ่นทั้งในและนอกพื้นที่ ตลอดจนผู้สนใจทั่วไป ซึ่งกิจกรรมต่างๆ จำเป็นต้องมีพลังงานไฟฟ้าที่มีความเสถียรต่อการดำเนินงาน
ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการพลังงานเพื่อชีวิต (Energy for Life) นั้น เทศบาลตำบลปริก ได้นำพลังงานคน (ปั่นจักรยานสูบน้ำ) พลังงานน้ำ(กังหันวิดน้ำ)มาใช้แทนพลังงานไฟฟ้าในการสูบน้ำเพื่อนำไปรดพืช ผัก ต้นไม้ อย่างไรก็ตามภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ ( ILC3) ยังมีเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ อีกจำนวนมากที่จำเป็นจะต้องใฃ้พลังงานไฟฟ้า แต่ในบริเวณดังกล่าวไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้แต่อย่างใด จึงจำเป็นต้องขอเดินสายพ่วงกระแสไฟฟ้าจากชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ที่ใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอยู่เดิมไปพลางก่อน เพื่อใช้กับแสงสว่างในและนอกอาคาร อุปกรณ์-เครื่องใช้โรงปุ๋ย เครื่องบดสับ คัดแยกขยะ แต่เนื่องจากศูนย์เรียนรู้ฯ (ILC.3) ตั้งอยู่ปลายสายส่งของการไฟฟ้าฯ ทำให้ไฟฟ้าในส่วนที่พ่วงจากชาวบ้านละแวกนั้นไม่เพียงพอต่อการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเครื่องคัดแยกขยะที่มีมอเตอร์หลายตัว เทศบาลฯได้ให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสะเดา สำรวจและประมาณการค่าใช้จ่ายในการขยายเขตไฟฟ้าเพื่อแก้ปัญหานี้ พบว่ามีค่าใช้จ่ายสูงถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท หากเทศบาลไม่ดำเนินการใดๆในเรื่องพลังงานไฟฟ้า ก็จะไม่สามารถจัดการขยะที่กองสะสมอยู่ได้ ประชาชนอาจได้รับผลกระทบที่เกิดจากการจัดการขยะ และเทศบาลไม่มีโอกาสที่จะขยายผลเรื่องศูนย์เรียนรู้ฯ (ILC3) ได้เช่นกัน และถ้าหากเลือกที่จะใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคก็จะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก อีกทั้งยังจะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเรื่องกระแสไฟฟ้ารายเดือนที่จะมีขึ้นตลอดไป ทำให้เทศบาลต้องค้นหาทางเลือกเรื่องพลังงงานที่จะนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างคุ้มค่า
๒ ภาระค่าใช้จ่ายค่ากระแสไฟฟ้าของเทศบาลที่สูงขึ้น
ในแต่ละปีเทศบาลตำบลปริกใช้งบประมาณค่ากระแสไฟฟ้าสูงถึง ๑,๖๓๒,๓๒๖.๐๓ บาท ซึ่งนอกจากไฟฟ้าที่ใช้ในศูนย์เรียนรู้ (ILC3) ข้างต้นแล้ว ยังมีค่ากระแสไฟฟ้าของอาคารสำนักงาน โรงเรียน และระบบผลิตน้ำประปาซึ่งมีแหล่งน้ำดิบอยู่ไกลจากระบบผลิต ๑,๕๐๐ เมตร และด้วยสภาพของพื้นที่ที่จะต้องสูบน้ำขึ้นเพื่อสร้างแรงดันสองต่อจึงทำให้การผลิตและส่งจ่ายน้ำประปาต้องใช้กระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำมากกว่าปกติ ทำให้รายได้ที่จัดเก็บค่าน้ำประปาไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ต้องใช้งบประมาณจากเทศบาลมาอุดหนุนกิจการประปาซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ากระแสไฟฟ้า เป็นประจำทุกปี เฉลี่ยปีละ ๓๐๐,๐๐๐ - ๕๐๐,๐๐๐ บาท หากเทศบาลตำบลปริกไม่ได้แก้ไขปัญหาค่ากระแสไฟที่มากนี้ประชาชนก็จะเสียประโยชน์ในการที่จะได้รับความสะดวกสบายจากการบริการสาธารณะ หรือการดำเนินโครงการก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เนื่องจากเทศบาลต้องนำงบประมาณบางส่วนมาใช้ในการชำระค่ากระแสไฟฟ้าดังกล่าวแทน เทศบาลจึงต้องหาวิธีการในการประหยัดพลังงานและงบประมาณ และสร้างสำนึกใหม่เรื่องพลังงานเพื่อชีวิต( Energy for Life) ให้กับบุคลากรในองค์กรและประชาชนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการประหยัดพลังงานและการใช้ประโยชน์จากพลังงานทางเลือกให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
จากสภาพปัญหาข้างต้น เทศบาลจึงปรับแนวคิด วิธีการดำเนินงานด้วยการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีพลังงานทดแทนมาใช้ในการแก้ไขปัญหา พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานแก่พนักงาน ประชาชนในพื้นที่ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สร้างความรู้ผ่านระบบการศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียน สร้างพันธมิตรแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ฯลฯ จนเป็นที่มาของการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้บูรณาการ(Integrated Learning Center : ILC) ขับเคลื่อนเรื่องพลังงานทางเลือกเป็นหลักขึ้นภายใต้“โครงการพลังงานเพื่อชีวิต (Energy for Life)” ๕ แหล่ง ดังนี้
๑. ศูนย์เรียนรู้บูรณาการแห่งที่ ๑ (ILC.1) อาคารสำนักงานเทศบาลตำบลปริก เป็นสถานที่ประชุม/ฝึกอบรม สร้างองค์ความรู้เรื่องพลังงานทางเลือกแก่พนักงานเทศบาล และบุคลทั่วไป พนักงานเทศบาลช่วยกันคิดค้นหาวิธีประหยัดพลังงานภายในอาคารโดยกำหนดเป็นกติการ่วมขององค์กร เปลี่ยนหลอดไฟฟ้าภายในอาคารมาใช้หลอดไฟ LED แทนหลอดฟลูออเรสเซนต์ ติดตั้งโคมไฟแสงสว่างพลังงานแสงอาทิตย์บริเวณถนนทางเข้าสำนักงานฯ ด้วยวิธีการ ซื้อวัสดุมาจัดฝึกอบรมให้กับพนักงานเทศบาล สมาชิกสภา และผู้สนใจร่วมกันติดตั้ง จุดเด่นของนวัตกรรมนี้คือ การพัฒนาคนด้วยการนำยุทธศาสตร์ ”ระเบิดจากข้างใน”มาใช้ สร้างแนวคิดในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเรื่องการใช้พลังงาน ที่จะต้องเริ่มทำให้เห็นผลจากข้างในเทศบาลก่อนแล้วจึงค่อยขยาย ไปยังชุมชน ทั้งนี้การติดตั้งโคมไฟฟ้าแสงสว่างพลังงานอาทิตย์แบบพึ่งพาตนเองนั้น ได้ก่อให้เกิดชุดความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี และช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐ แทนการจัดซื้อจัดจ้างที่ดำเนินการกันอยู่ทั่วไป
๒. ศูนย์เรียนรู้บูรณาการแห่งที่ ๒ (ILC.2) โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก เทศบาลตำบลปริกได้MOUกับปตท. เพื่อขับเคลื่อน “เมืองพลังงาน” จัดทำอุทยานพลังงาน (Energy Park) จำลองสิ่งประดิษฐ์ทางด้านพลังงานทดแทน และจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น จุดเด่นนวัตกรรมนี้คือ ๑ ) แนวคิดในการปลูกฝังความรู้เรื่องพลังงานในระดับโรงเรียนเป็นแห่งแรกของอำเภอสะเดา ที่มี”หลักสูตรท้องถิ่นเรื่องพลังงาน” ๒ ) นักเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้จากของจริงด้วยการทำโครงงาน “ พลังงานศึกษา” ๓ ) นักเรียน และผู้ปกครองทำอุทยานพลังงาน ( Energy Park ๔ ) ขยายผลองค์ความรู้การประหยัดพลังงานจากโรงเรียน สู่ชุมชน และการสร้างเครือข่ายโรงเรียน
๓. ศูนย์เรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง (ILC.3) สถานที่กำจัดขยะเทศบาล การจัดการขยะด้วยเครื่องคัดแยกขยะที่มีมอเตอร์เป็นตัวขับเคลื่อน แต่มีข้อจำกัดด้านกำลังไฟฟ้าและงบประมาณ เทศบาลจึงเลือกติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด ๑๕ กิโลวัตต์ แปลงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ ๓ เฟส ขึ้น ซึ่งใช้งบประมาณ เพียง ๕๐๐,๐๐๐ บาท แทนการขยายเขตไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่จะต้องใช้งบประมาณสูงถึง ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท และการเปลี่ยนหลอดไฟแสงสว่างทั้งหมดภายในอาคารซึ่งเป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่มีกระแสไฟฟ้าต่อหลอดสูงถึง ๓๖ วัตต์ มาใช้หลอด LED ขนาด ๑๘ วัตต์ ที่ให้ความสว่างเท่ากัน ทำให้ลดพลังงานจากเดิมได้ถึง ๕๐ เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ยังมีสิ่งประดิษฐ์ใหม่จากความร่วมมือกับ ปตท. ได้แก่ เครื่องสบัด อบขยะ โคมไฟส่องสว่าง ระบบสูบน้ำ กังหันตีน้ำ ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งแยกส่วน (STAND ALONE)
โดยสรุป ILC.3 เป็นแหล่งรวมไว้ชึ่งวิธีคิดและเทคโนโลยี สิ่งประดิษฐ์ใหม่ นับเป็นนวัตกรรมที่สร้างขึ้นตามแนวคิดใหม่ในการจัดการขยะ และการดำเนินการตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียงที่สามารถปฏิบัติการได้จริง และประหยัดงบประมาณของภาครัฐได้สูง ตลอดจนและเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้สนใจได้เป็นอย่างดี
๔. ศูนย์เรียนรู้บูรณาการ แห่งที่ ๔ (ILC.4) ครัวเรือน ศาสนสถาน และโรงเรียนเอกชน การยกระดับครัวเรือนตัวอย่างที่เป็นแหล่งเรียนรู้วิถีตามเศรษฐกิจพอเพียงเดิม และเพิ่มครัวเรือนอาสาอีก ๑๒๐ ครัวเรือนและโรงเรียนเอกชนในพื้นที่ ให้ปรับลดพฤติกรรมการใช้พลังงาน การเลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และการปรับเปลี่ยนมาใช้หลอด LED สนับสนุนให้เกิดการสร้างระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ขนาด ๓ กิโลวัตต์ ติดตั้งบนหลังคามัสยิดตลาดใต้ ใช้งานเสริมและปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า แห่งแรกที่เริ่มขยายการใช้พลังงานทดแทนไปยังชุมชน
๕. ศูนย์เรียนรู้บูรณาการ แห่งที่ ๕ (ILC.5) ระบบผลิตน้ำประปาเทศบาลตำบลปริก ที่ดำเนินงานเพื่อปรับลดการใช้พลังงานกระแสไฟฟ้าหลัก โดยการสร้างระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ สนับสนุนโดยมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ผ่านศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานบ้านไผ่ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน จุดเด่นนวัตกรรมนี้คือการเป็นหน่วยแรกของการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์เพื่อกิจการประปาของเทศบาลตำบลปริก ที่ช่วยลดการใช้กระแสไฟฟ้า และเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่กองการประปา จนมีแนวคิดที่จะขยายผลไปยังระบบต่างๆ ของกิจการประปา ในอนาคต
วัตถุประสงค์
๑. เพื่อให้เกิดแหล่งเรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติด้านพลังงานทางเลือก การเลือกใช้เทคโนโลยี และอุปกรณ์ที่เหมาะสมเพื่อการประหยัดพลังงาน และเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพของพนักงานเทศบาล ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ และผู้สนใจทั่วไป โดยใช้แหล่งเรียนรู้ทั้ง ๕ (ILC.1 – ILC.5) เป็นฐานการเรียนรู้
๒. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าที่มีเพียงพอต่อการเดินเครื่องคัดแยกขยะ และการใช้ไฟฟ้าทั่วไปภายในสถานที่กำจัดขยะของเทศบาล หรือศูนย์เรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง แห่งที่ ๓ (ILC.3) และเป็นการนำเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในการผลิตน้ำประปาของเทศบาล
๓. เพื่อประหยัดงบประมาณรายจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าในสำนักงาน (ILC1) ลดค่าใช้จ่ายให้แก่ภาครัฐในการก่อสร้างและขยายระบบไฟฟ้า ๓ เฟส ในศูนย์เรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพีง (ILC.3) ตลอดจนเป็นการลดรายจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าในแหล่งผลิตน้ำประปา (ILC5)
๔. เพื่อให้เกิดการขยายผลไปยังชุมชนในพื้นที่ดำเนินการของเทศบาลตำบลปริก (ILC4) เชื่อมโยงเครือข่ายพลังงานทางเลือกกับองค์กรภาคีเครือข่ายต่างๆ และเกิดการต่อยอดกิจกกรรมต่างๆ ของเทศบาล และชุมชนท้องถิ่นอื่น ทั้งในจังหวัดสงขลาและพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
เป้าหมาย
๑. มีกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อการดำเนินกิจกรรม
ศูนย์เรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง (ILC3) มีกระแสไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งานคัดแยกขยะ แสงสว่างในอาคารและบริเวณ โดยอาศัยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก
๒. ลดค่ากระแสไฟฟ้าเพื่อประหยัดงบประมาณ
ศูนย์เรียนรู้ฯ ILC 3. ค่ากระแสไฟฟ้าลดลงจากเดิมเดือนละ ๒,๐๐๐ บาท ระบบการผลิตน้ำประปา พบว่า ลดค่ากระแสไฟฟ้า ได้ประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ อาคารหน่วยราชการของเทศบาลสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า เกิดความประหยัดมากขึ้น เมื่อรวมกับการได้เปลี่ยนหลอดไฟจากหลอดฟลูออเรเซนต์เป็นหลอด LED บางส่วนแล้ว ถึงแม้จะยังไม่สามารถลดให้เห็นชัดเจน เนื่องจากมีการเพิ่มเติมอาคารมากขึ้น แต่มีแนวโน้มดีขึ้น อาคารมัสยิดตลาดใต้ หลังจากติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าโซล่าเซลขนาด ๓ กิโลวัตต์ ทำให้สามารถลดค่ากระแสไฟฟ้าต่อเดือนได้เฉลี่ย ๓๐๐ บาท
๓. เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปมีความรู้เรื่องพลังงาน
การจัดทำหลักสูตรพลังงานระหว่างโรงเรียนเทศบาลตำบลปริกกับ ปตท. เพื่อใช้สอนในโรงเรียน และฝึกอบรมประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นการปลูกฝังการใช้ทรัพยากรพลังงานให้คุ้มค่า ประยุกต์ใช้งานกับชีวิตประจำวัน และต่อยอดความคิดนวัตกรรมด้านพลังงานให้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เข้าใจ และเข้าถึง “พลังงานเพื่อชีวิต ( Energy for Life) “ ขยายผลสู่ ครอบครัว ชุมชน ปัจจุบันดำเนินการสอน และ ฝึกอบรมไปแล้ว ๑ รุ่น และเกิดกลุ่มเครือข่ายพลังงานทางเลือก ๑ กลุ่ม ที่มีสมาชิกทั้งในเขตเทศบาลตำบลปริก และพื้นที่ใกล้เคียง
๔. เกิดแหล่งเรียนรู้ในชุมชน
ครัวเรือนอาสา สามารถปรับแนวคิด และพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า ลดค่ากระแสไฟฟ้าได้มากสุดถึงร้อยละ ๒๕ ซึ่งต่อมาทั้งมัสยิด และครัวเรือนอาสาได้พัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้พลังงานในระดับชุมชน
ความสำคัญ
โครงการพลังงานเพื่อชีวิต (Energy for Life) เป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในภารกิจด้านต่างๆ ของเทศบาลตำบลปริกด้วยการจัดระบบอย่างบูรณาการด้วย ๕ ฐานกิจกรรมขึ้น ประการแรกเพื่อช่วยแก้ปัญหากระแสไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอแก่การใช้งานให้หมดไปในฐานการจัดการขยะภายในศูนย์เรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง (ILC3) หากเทศบาลไม่ได้ดำเนินการโครงการดังกล่าว ก็ไม่สามารถที่จะเดินเครื่องคัดแยกขยะได้ ทำให้ขยะส่วนใหญ่เป็นพลาสติกปนกับขยะอินทรีย์ที่เหลือจากการคัดแยกจากต้นทาง และกลางทาง ก็จะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดปัญหามลภาวะและเหตุเดือดร้อนแก่ประชาชนและส่งผลกระทบต่อชุมชนได้ การนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เป็นการเติมเต็มพลังงานไฟฟ้าที่จะนำมาป้อนระบบเครื่องคัดแยกขยะซึ่งจะทำงานได้ครบกระบวนการ สามารถคัดแยกขยะและนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ เช่น ขยะอินทรีย์นำมาทำดินเกษตร และปุ๋ย เศษพลาสติกนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์หรือเป็นแท่งเชื้อเพลิง (PDF.) เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะนำพลังงานแสงอาทิตย์ที่ได้ไปใช้กับเครื่องใช้-อุปกรณ์ไฟฟ้า และระบบไฟฟ้าแสงสว่างทั่วไปภายใน ILC3 ทำให้ลดค่าใช้จ่ายลงอีกด้วย ประการที่สองในการขับเคลื่อนงานไปสู่ความยั่งยืน เทศบาลตำบลปริกได้กำหนดให้สำนักงานเทศบาลตำบลปริกเป็นฐานเรียนรู้เรื่องพลังงานทดแทนแหล่งที่๑ (ILC1) ในการสร้างความตระหนักเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กรและชุมชนด้วยกิจกรรมและพฤติกรรมตัวอย่างการลดพลังงานในองค์กร และโรงเรียนเทศบาลตำบลปริกเป็นฐานเรียนรู้พลังงานแหล่งที่๒ ILC2 มีการนำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องพลังงานทดแทน กับ อุทยานพลังงาน มาใช้ในระบบการศึกษาและเรียนรู้"พลังงานศึกษา"ของนักเรียน สำหรับศูนย์เรียนรู้อื่นๆ ที่ดำเนินการเพื่อต้องการลดภาระค่ากระแสไฟฟ้า ได้แก่ ILC4 ครัวเรือนตัวอย่างและมัสยิดที่นำเรื่องการลดพลังงานและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ไปใช้ประโยชน์ ตลอดจน ILC5 การติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ภายในระบบผลิตน้ำประปา นั้นสามารถลดค่ากระแสไฟฟ้าให้กับครัวเรือน ชุมชน และเทศบาลได้อย่างเป็นรูปธรรมเช่นกัน
บทบาท
* เทศบาลดำเนินการจัดหางบประมาณดำเนินการเอง ได้แก่ การติดตั้งระบบผลิตพลังไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ขนาด ๑๕ กิโลวัตต์ ภายในศูนย์เรียนรู้บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียง (ILC3) เนื่องจากเทศบาลมีความเร่งด่วนที่จะดำเนินการเดินเครื่องคัดแยกขยะแต่ไม่สามารถเดินเครื่องแสงอาทิตย์ได้เนื่องจากไฟไม่เพียงพอดังที่ได้กล่าวมาแล้ว กิจกรรมนี้เทศบาลจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์ แล้วให้เจ้าหน้าที่กองช่างของเทศบาลเป็นคนดำเนินการร่วมกับตัวแทนจำหน่ายอุปกรณ์ ตั้งแต่ก่อสร้างโครงรับแผง ติดตั้งแผง การต่อวงจร และทดสอบระบบใช้งาน
การติดตั้งโคมไฟพลังงานแสงอาทิตย์ถนนหน้าเทศบาล ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้บูรณาการ ที่ ๑ (ILC1) และหน้าอาคารเรียน ศูนย์เรียนรู้บูรณาการ ที่ ๒ (ILC2) เป็นการจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์แล้วจัดฝึกอบรมให้ความรู้แก่ เจ้าหน้าที่ สมาชิกสภา ประชาชน และนักเรียน ร่วมกันติดตั้ง
* หน่วยงานหรือองค์กรภายนอกดำเนินการให้ ระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ภายในระบบผลิตน้ำประปา เป็นการสนับสนุนงบประมาณโดยมูลนิธิโคคา-โคลา ผ่านสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน สมาคมฯ จัดเจ้าที่ดำเนินการติดตั้งและได้อบรมให้แก่เจ้าหน้าที่กองการประปาของเทศบาล เป็นผู้ใช้งานและบำรุงรักษา
* หน่วยงานภายนอกสนับสนุนงบประมาณเทศบาลร่วมมือติดตั้ง ในการศึกษาหาวิธีกำจัดขยะพลาสติกอีกช่องทางหนึ่ง ได้แก่ เครื่องอบขยะ (ใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์) เครื่องสะบัดขยะ (ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์) ระบบบำบัดน้ำเสียโดยเครื่องตีน้ำพลังแสงอาทิตย์ การสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โคมไฟส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ กิจกรรมเหล่านี้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือระหว่างเทศบาลกับบริษัท ปตท.จำกัด มหาชน ภายใต้โครงการ "เมืองพลังงาน" ซึ่งเทศบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ ปตท. จำกัด มหาชน ร่วมคิดค้น ดำเนินการและติดตั้ง
* เทศบาลสนับสนุนและขยายกิจกรรมการดำเนินการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังอาคารศาสนสถาน ครัวเรือนอาสาภายในชุมชน
ในการดำเนินกิจกรรมเทศบาลไม่ได้ดำเนินการเฉพาะหน่วยงานของเทศบาลเท่านั้น แต่ยังขยายผลไปยังชุมชนโดยเชิญชวนให้มีครัวเรือนอาสา เทศบาลร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด มหาชน ร่วมให้ความรู้ในการเลือกใช้วัสดุ ผลิตภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน การเปลี่ยนมาใช้หลอด LED การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตประจำวันเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน และการขยายผลไปสู่ชุมชนโดยการเข้าร่วมสังเกตการณ์และร่วมหน่วยงานภายนอกเชื่อมให้มีการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยทักษิณในการติดตั้งระบบพลังงานงานแสงอาทิตย์บนหลังคามัสยิด
***** ชมวีดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=eMV4bVv_7js ******