เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2548 ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดสงขลา ได้จัดประชุมโครงการพัฒนาบุคลากรเพื่อสร้างหมู่บ้านชุมชนเข้มแข็งเพื่อเอาชนะยาเสพติดอย่างยั่งยืนจังหวัดสงขลา ขึ้น ณ ห้องประชุมเฟื่องฟ้า โรงแรมบีพี สมิหลา บีช อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้เชิญผู้บริหารท้องถิ่นและปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมประชุมเพื่อ รับทราบนโยบายปฏิบัติการพลังแผ่นดินร่วมกวาดล้างยาเสพติด ครั้งที่ 4 (1 ตุลาคม 31 ธันวาคม 2548 ) โดยได้ชี้แจงให้ทราบสถานการณ์ยาเสพติดหลังสิ้นสุดปฏิบัติการพลังแผ่นดิน ครั้งที่ 3 (1 เมษายน 30 มิถุนายน 2548) ว่าจากการดำเนินการดังกล่าวสามารถลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์ปัญหาได้จนถึงระดับที่ไม่กระทบต่อการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป แต่ถึงกระนั้นก็ดียังมีพวกผู้ค้า ผู้เสพกลุ่มใหม่ เริ่มจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดแห่งชาติ ต้องหาวิธีทางระงับหรือแก้ไขให้ปัญหาดังกล่าวหมดไปโดยเร็ว ซึ่งจะต้องดำเนินการขยายผลในการทำงานเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและ เข้มข้นยิ่งขึ้น เพื่อไม่ให้ยาเสพติดกลับมาส่งผลกระทบต่อชีวิตและความสงบสุขของประชาชนได้อีก
สำหรับในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อการมีส่วนร่วมในการช่วยกันแก้ไขปัญหายาเสพติดซึ่งเป็นนโยบายสำคัญอีกนโยบายหนึ่งของรัฐบาล นั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการดังกล่าวได้หลายวิธี เช่น พัฒนาหมู่บ้าน/ชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถเป็นตัวแบบของหมู่บ้านชุมชนอื่น โดยเน้นการรณรงค์ให้เยาวชน ประชาชน มีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังยาเสพติด การแจ้งข้อมูลข่าวสาร และการจัดระบบเฝ้าระวังยาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชนของตน เพื่อป้องกันการฟื้นกลับมาของ ยาเสพติด เป็นต้น
ซึ่งการปฏิบัติการในระดับชุมชน หมู่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญยิ่งในการปฏิบัติงานดังกล่าว เพราะมีความใกล้ชิดกับประชาชนในท้องถิ่น ผู้บริหารและประชาชนในท้องถิ่นรู้จักมักคุ้นกันเป็นอย่างดี มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งจุดเด่นนี้เองจะมีส่วนสำคัญที่เป็นจุดแข็งในการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด
ถึงแม้ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะไม่มีหน้าที่ด้านการปราบปรามผู้ผลิต หรือผู้ค้าก็ตาม แต่ยังมีบทบาทหน้าที่อีกหลายๆด้านที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันการแพร่ของยาเสพติดได้ ตัวอย่างเช่น 1. รณรงค์การป้องกันกลุ่มเสี่ยง 1.1 เสริมสร้างความรักความอบอุ่นในครอบครัว 1.2 รณรงค์ให้พ่อ แม่ ปฏิบัติตนเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่เยาวชน 1.3 ลดปัจจัยเสี่ยงยาเสพติด เช่น ควบคุมแหล่งอบายมุขในหมู่บ้าน/ชุมชน 1.4 สร้างปัจจัยเสริมในการป้องกัน เช่น การออกกำลังกาย การปฏิบัติตนตามหลักศาสนา
2. การติดตามดูแลผู้ติดยาเสพติดหรือผู้เสพ 2.1 ให้กำลังใจดูแลผู้เสพเพื่อให้กลับตัวเป็นคนดี 2.2 ฟื้นฟูดูแล และจัดหาอาชีพให้หลังการบำบัดแล้ว 2.3 เฝ้าระวังไม่ให้ผู้เสพกลับไปเสพยาเสพติดอีก
3. ส่งเสริมด้านการข่าวที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 3.1 รณรงค์ให้หมู่บ้าน/ชุมชน ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 3.2 แจ้งเบาะแสผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการปราบปรามทราบ 3.3 จัดตั้งเวรยามรักษาความปลอดภัยในหมู่บ้าน/ชุมชน
4. ดำเนินงานหมู่บ้าน/ชุมชนเข้มแข็ง 4.1 จัดทำแผนชุมชนแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่นยืน 4.2 แก้ไขปัญหาตามแผนที่กำหนด 4.3 รณรงค์ให้หมู่บ้าน/ชุมชนเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นมาอีก 4.4 เชื่อมโยงเครือข่ายกับหมู่บ้าน/ชุมชนอื่นๆ
แนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่กล่าวมาข้างต้นก็คงจะเพียงพอที่จะให้องค์กรปกครอง ท้องถิ่นต้องขบคิดและผลักดันนโยบายและแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆที่กล่าวมาให้เกิดเป็นรูปธรรมให้รวดเร็วที่สุดเพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสพติดหวนกลับมาทำร้ายสังคมไทยได้อีกต่อไปในอนาคต.