บริการประชาชน
น้องบัง
15.18
น้องบัง
สวัสดีจร้าาา...วันนี้มีอะไรให้น้องช่วยฮ่ะ ถามน้องบังมาได้เลย จะรีบไปหาคำตอบให้ฮะ
15.18
ขนาดตัวอักษร
ภาษา
นโยบาย

3.การพัฒนาสังคม (SDG 10,11,17 )

          3.1 สร้างพลเมืองผู้ตื่นรู้(Active Citizen) ผู้นำการเปลี่ยนแปลง(Change Agent) และวิศวกรสังคม (Social Engineer) การส่งเริมความเข้มแข็งของชุมชนผ่านกระบวนการจัดการศึกษาและเรียนรู้ทั้งในระบบและนอกระบบเพื่อมุ่งสร้างภาวะความเป็นพลเมืองที่กระตือรือร้นและตื่นรู้ด้วยการนำแนวทางพัฒนาเยาวชนในศตวรรษที่ 21 มาปรับใช้ เพื่อมุ่งเน้นการสร้างนักคิด และการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ บูรณาการจากการเรียนรู้การลงมือปฏิบัติ และการสรุปบทเรียนจากการเรียนรู้ในสิ่งเหล่านั้น (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(2557)) ซึ่ง สสส.ได้กำหนดคุณลักษณะของการเป็นพลเมืองตื่นรู้  (Active Citizen) ไว้ 8 ระดับ ได้แก่ (1.) เคารพกติกาสังคม ปฏิบัติตนตามที่กฎหมายกำหนด  (2.) ทำหน้าที่ทางสังคม รู้หน้าที่การใช้สิทธิ์เลือกตั้ง เสียภาษี เข้ารับการเกณฑ์ทหาร (3.) ติดตามข่าวสารบ้านเมือง สนใจปัญหาสังคม สามารถวิเคราะห์ประเมินตนเองในการช่วยเหลือต่อเหตุการณ์ต่างๆ (4.) เข้าร่วมกิจกรรมของชุมชน การมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชน ช่วยเหลืองานพัฒนางานในชุมชน (5.) กล้าและสามารถแสดงความคิดเห็นบนพื้นฐานหลักประชาธิปไตย เคารพในการรับฟังซึ่งกันและกัน (6.) ไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรมต่างๆ ในสังคม (7.) อาสาสมัครเข้าร่วมในสถานการณ์ต่าง และเหตุการณ์ต่าง ๆ (8.) มีความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ มีความรับผิดชอบ มีธรรมมาภิบาล พร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือกันในการออกแบบเพื่อการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกันกับผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาคประชาชน

          3.2 การจัดระเบียบชุมชน  สำนักปลัด โดยงานป้องกันบรรเทาสาธรณภัย และส่วนราชการต่าง ๆ ของเทศบาลร่วมกับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน(อปพร.) องค์กรชุมชนและภาคประชาชน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกฎระเบียบว่าด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสะอาดย่านชุมชน เรื่องการจราจรและการขับขี่ปลอดภัย เสริมสร้างประสิทธิภาพในการรักษาความสงบปลอดภัยแก่ชุมชน และการเฝ้าระวังความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน

          3.3 พัฒนาสังคมเชิงบูรณาการ 7 มิติ+1 (สังคมรักษ์โลก  สังคมเอื้ออาทร สังคมสวัสดิการ สังคมไม่เดือดร้อน สังคมคนดี สังคมสันติสุข สังคมปรับตัว และ สังคมขับขี่ปลอดภัย)  นำแนวคิดที่ได้จากการออกแบบคุณลักษณะทางสังคม ผ่านการขับเคลื่อนงานและกิจกรรมในมิติ  ต่าง ๆ ที่ทางเทศบาลตำบลปริกได้ส่งเสริมให้เกิดขึ้นในชุมชน โดยการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในรูปของมหาวิชชาลัยปริกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Prik USD) มาปรับใช้เพื่อพัฒนาทางสังคมเชิงบูรณาการ เพื่อให้เห็นความเป็นสังคมปริกที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน (1) ในมิติทางด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สังคมรักษ์โลก) (2) มิติด้านการจัดการสุขภาวะแบบองค์รวม และสร้างพลังแห่งการช่วยเหลือดูแลทุกข์สุขแก่กันและกัน(สังคมเอื้ออาทร) (3) มิติการจัดการชุมชนบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการช่วยเหลือกันในรูปของสวัสดิการชุมชน(สังคมสวัสดิการ) (4) มิติแห่งการเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพบนพื้นฐานความพอเพียง และเศรษฐกิจชุมชนสู่การแบ่งปัน (สังคมไม่เดือดร้อน) (5) มิติทางด้านการขัดเกลาทางสังคม(Socialization)เพื่อสร้างคุณธรรมจริยธรรมและการศึกษาที่มีสถาบันทางศาสนาและโรงเรียนเป็นกลไกขับเคลื่อน(สังคมคนดี) (6) มิติแห่งการสร้างความสมานฉันท์และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธีที่มีผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐเป็นกลไกในการเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทผ่านศูนย์ยุติธรรมชุมชน (สังคมสันติสุข) (7) มิติด้านการจัดการภัยพิบัติเชิงบูรณาการ ที่มีกลุ่มอาสาภัยพิบัติ อปพร. ท้องที่ ท้องถิ่น องค์กรภาครัฐ และภาคประชาชนตลอดจนเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติภาคใต้ร่วมกันเป็นกลไกในการบริหารจัดการ(สังคมปรับตัว) และ +1 (8) มิติที่ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกและสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนและในชุมชน (สังคมขับขี่ปลอดภัย)

3.4 ส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม  ศาสนา และภูมิปัญญาท้องถิ่น ปัจจุบันความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างยิ่งยวดรวดเร็ว สังคมเปลี่ยนผ่านจากยุคเก่า เข้าสู่ยุคใหม่ของโลกไซเบอร์ จนกระทั่งเป็นยุคดิจิทัลเต็มตัว ที่มีระบบสารสนเทศการสื่อสาiที่มีประสิทธิภาพสูง รวดเร็ว ฉับไว ทำให้เกิดการไหลบ่าทางวัฒนธรรมทั้งจากทั่วทุกมุมโลก อันส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนทุกช่วงวัย จนทำให้คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่หันหลังให้กับศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นไป อาจจะทำให้เกิดการสูญเสียความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม ประเพณีของคนในชุมชนท้องถิ่นไปได้โดยง่าย เทศบาลตำบลปริกโดยกองการศึกษา โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก กองสวัสดิการสังคม และส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง จึงต้องมาทบทวนและจัดกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมให้มีการธำรงไว้ซึ่งสิ่งที่เป็นคุณค่าอันดีงาม ด้วยการดำเนินการสนับสนุนฟื้นฟู ดูแล บำรุงรักษาขนบธรรมเนีย ประเพณี ศิลปกรรม โบราณสถาน โบราณวัตถุ  การละเล่นพื้นบ้าน ชีวิตความเป็นอยู่และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม  ให้คงสภาพหรือปรับปรุงต่อยอดในส่วนที่ดีงามของสิ่งเหล่านั้น เพื่อพัฒนาการดำเนินวิถีชีวิตในชุมชนท้องถิ่นให้อยู่รอดได้อย่างสมสมัย ตลอดจนการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจ และการปฏิบัติตนตามหลักศาสนา  ของตนอย่างถูกต้อง เพื่อสร้างคุณธรรม จริยธรรม แก่พลเมืองเทศบาลตำบลปริก          

3.5 การสร้างเครือข่ายด้านการพัฒนาสังคม   ที่ประกอบด้วยเทศบาลตำบลปริก องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคประชาชน ร่วมเป็นภาคี เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนางานซึ่งกันและกันอย่างมีเป้าหมาย เป็นการเชื่อมโยงคนหรือองค์กรที่มีความสนใจร่วมกันและพัฒนาไปสู่การลงมือร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆด้วยเป้าหมายและจุดประสงค์เดียวกันมีการจัดระบบและออกแบบการสนับสนุนช่วยเหลือ ร่วมกันแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนงานด้วยกันในรูปแบบเครือข่ายทางสังคม

4.การจัดการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Based Society)  (SDG 1,2,3,4,5,6,7,8,10,12,13,15,16,17)

          4.1 ส่งเสริมกระบวนการจัดการจัดการศึกษา ในระบบ นอกระบบ  ตามอัธยาศัย และการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาอาชีพ ให้มีการเรียนฟรี  เรียนดี  และเรียนอย่างมีคุณภาพ โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ ซึ่งจะมีกองการศึกษาและโรงเรียนเทศบาลตำบลปริกเป็นเจ้าภาพหลักดำเนินการร่วมกับพันธมิตรทางการศึกษา ภาคีเครือข่ายสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลา นครินทร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เพื่อร่วมกันออกแบบกระบวนการ พัฒนาเด็ก และเยาวชน  ผ่านระบบการจัดการศึกษาและเรียนรู้  โดยใช้หลักสูตร+4 เป็นเครื่องมือในการพัฒนาเพิ่มเติมจากหลักสูตรแกนกลางทั่วไป

4.2 พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษา   ส่งเสริมสนับสนุนกองการศึกษา และโรงเรียนเทศบาลตำบลปริก ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้อง ให้เกิดการปรับกระบวนทัศน์ แนวคิด วิธีการ ร่วมสร้างและพัฒนากระบวนการ หรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการแก้ไขปัญหาการจัดการศึกษาของเทศบาลตำบลปริก และพัฒนากระบวนการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิ ภาพยิ่งขี้น ดังนั้นการนำนวัตกรรมทางการศึกษามาใช้ในการพัฒนาผู้เรียนถือเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่ครูผู้สอนต้องมีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการสร้างนวัตกรรมเพื่อนำมาใช้กับผู้เรียน ซึ่งครูผู้สอนจะเลือกนวัตกรรมที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของผู้เรียน และขึ้นอยู่กับความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของครูผู้สอน ทั้งนี้เพื่อให้นวัตกรรมที่สร้างขึ้นส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้มากที่สุด

4.3การจัดการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองผู้ตื่นรู้(Active Citizen) เป็นการทำงานเชิงบูรณาการ ระหว่างกองการศึกษา โรงเรียนเทศบาลตำบลปริก และกองสวัสดิการสังคม ด้วยการส่งเสริมให้มีการพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้เรียนรู้เรื่องเทคนิค วิธีการ และกระบวนการสร้างพลเมืองและโรงเรียนพลเมืองที่มีหลักประชาธิปไตยในการดำรงชีวิต ปฏิบัติตนตามกฎหมาย และการดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม  โดยมีหลักการ 3 ประการ คือ 1) เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้แก่ การยอมรับในเกียรติภูมิของแต่ละบุคคล  คุณค่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตระหนักในความเสมอภาค  เคารพในความหลากหลายทางสังคมวัฒนธรรม และยึดหลักอดทน อดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง 2) การเคารพสิทธิ เสรีภาพ และกฎกติกาของสังคมที่เป็นธรรมของสังคมที่ทุกคนมีส่วนกำหนดกันขึ้นมา หลักการนี้มีองค์ประกอบย่อย ได้แก่ รู้จักสิทธิและเสรีภาพของตนเองโดยรู้ว่าตนเองเป็นเจ้าของอธิปไตยและเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคม เคารพและปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนเอง ของผู้อื่น และของชุมชน โดยไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิดอันขัดต่อกฎหมาย และเคารพกฎกติกาสังคม 3) รับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และสังคม เป็นการตระหนักถึงบทบาท หน้าที่ และพันธกิจของความเป็นพลเมือง ในระบอบประชาธิปไตย  เพื่อให้นักเรียน และพี่น้องประชาชน  ในชุมชนได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีส่วนร่วมกับเทศบาลในการสร้างพลังชุมชนที่เข้มแข็ง

          4.4 การสร้างเครือข่ายทางการจัดการศึกษาและเรียนรู้  ที่ประกอบด้วยเทศบาลตำบลปริก องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคประชาชน ร่วมเป็นภาคี เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ในการพัฒนางานซึ่งกันและกันอย่างมีเป้าหมาย เป็นการเชื่อมโยงคนหรือองค์กรที่มีความสนใจร่วมกันและพัฒนาไปสู่การลงมือร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆด้วยเป้าหมายและจุดประสงค์เดียวกัน มีการจัดระบบและออกแบบการสนับสนุนช่วยเหลือ ร่วมกันแก้ไขปัญหา และขับเคลื่อนงานด้วยกันในรูปแบบเครือข่ายทางสังคม  

5.การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงาน (SDG 7,13,15,17)

             5.1 การสร้างการเติบโตของเมืองบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  เทศบาลตำบลปริกนำกรอบแนวคิดและเกณฑ์ชี้วัดเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนมาใช้เป็นเครื่องมือและกลไก        ในการกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองที่ครอบคลุมการยกระดับสู่มาตรฐานสากลทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย (1) เมืองอยู่ดี (2) คนมีสุข (3) สิ่งแวดล้อมแวดล้อมยั่งยืน และ (4) เมืองแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี 

               5.2 ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการจัดการขยะมูลฝอยชุมชน “จังหวัดสะอาด” 

กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการส่งเสริมการคัดแยกขยะมูลฝอยจากต้นทาง ตามหลักการ 5Rs (Reduce, Repair, Reuse, Recycle, Reject) การจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครท้องถิ่นรักษ์โลก (อถล.)เพื่อขับเคลื่อนการจัดการขยะไปสู่ขยะฐานศูนย์ ( Zero Waste )    

            5.3 ส่งเสริมกิจกรรมป้องกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และ การลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gases) ด้วยการ สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีคุณค่า ประหยัดการใช้น้ำ ทำปุ๋ยหมักจากขยะอินทรีย์และเศษอาหาร ช่วยกันปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ช่วยดูดซับคาร์บอน   

           5.4  การสร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยเทศบาลตำบลปริก องค์กรภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาคประชาชน ร่วมเป็นภาคี เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนางานซึ่งกันและกันอย่างมีเป้าหมาย เป็นการเชื่อมโยงคนหรือองค์กร  ที่มีความสนใจร่วมกันและพัฒนาไปสู่การลงมือร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆด้วยเป้าหมายและวัตถุประสงค์เดียวกัน มีการจัดระบบและออกแบบการสนับสนุนช่วยเหลือ ร่วมกันแก้ไขปัญหา    และขับเคลื่อนงานด้วยกันในรูปแบบเครือข่ายทางสังคม 

6.การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง(SDG8,12,17)

การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทั้งด้านเกษตรกรรม การบริการทั้งในด้านการผลิต การบริโภค และการกระจายผลผลิต โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจของชุมชน ด้วยการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำร่วมรับประโยชน์บนรากฐานของความสามารถ  ที่มีอยู่ จากการใช้ “ทุนของชุมชน” และการสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจฐานล่าง โดยเน้นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าหรือทดแทนการซื้อจากระบบตลาดภายนอก เน้นการลดรายจ่ายในครัวเรือนสร้างการเพิ่มรายได้ การส่งเสริมให้ชุมชนมีการพึ่งพาตนเอง ให้รู้จักการทำมาหากิน ทำเองใช้เอง และสร้างกระบวนการพัฒนาความร่วมมือของประชาชนในระดับชุมชนในรูปของเศรษฐกิจแบ่งปัน และความมั่นคงทางอาหาร เช่น โครงการคนปริกมีกินมีใช้อยู่ได้ด้วยความพอเพียง เป็นต้น

 7.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (SDG 9,11,17)    

                ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย มาพัฒนาสภาพแวดล้อมในพื้นที่เมืองให้มีความน่าอยู่ ปลอดภัยมีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมมีการจัดโครงสร้างพื้นฐานที่สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางสังคมและประชากรในพื้นที่ โดยเฉพาะการรองรับประชากรสูงอายุที่จะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน 

                       พัฒนาแนวคิดเมืองสบาย สบาย (Slow life City) และแนวคิด เมืองสีเขียว (Green   City)  มาปรับใช้กับการพัฒนาพื้นที่ มีการสำรวจความเสี่ยง จุดเสี่ยง อันจะเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยในการจราจร พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น  ไฟแสงสว่าง ป้ายเตือน ระบบสายด่วนรับแจ้งเหตุ มีการประเมินผลความเสี่ยงด้านระบบงานจราจร และความปลอดภัยบนท้องถนนของประชาชน ให้เป็นเมืองแห่งความปลอดภัย การออกเทศบัญญัติควบคุม   ให้อาคาร หมู่บ้านจัดสรร บ้านเรือน ที่พักอาศัย ติดตั้ง บ่อดักไขมันและระบบน้ำเสียเฉพาะพื้นที่ หรือระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน จัดทำฐานข้อมูลอาคาร 9 ประเภทตามแบบที่กรมโยธาธิการ  และผังเมืองกำหนด 

                   พัฒนาระบบประปาให้มีคุณภาพและเกิดความเชื่อมั่นของประชาชนมากยิ่งขึ้น และจัดให้มีการตรวจสอบคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคของท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ

                    ปรับปรุงและขยายพื้นที่ทำการสำนักงานเทศบาลตำบลปริกเพื่อรองรับการเติบโตขององค์กรในอนาคต และเพิ่มความสะดวกสบายในการให้บริการสาธารณะต่อพี่น้องพลเมืองเทศบาลตำบลปริก ณ จุดเดียวได้อย่างทั่วถึง

                        นโยบายทั้ง 7 ประการที่กล่าวมานั้น ล้วนมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ อย่างจริงจัง ดังนั้น การดำเนินงานในแต่ละภารกิจ แต่ละโครงการสามารถเดินหน้าไปได้ตามนโยบายที่มีอยู่ทั้ง 7 ข้อ นั้น จึงมีปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนและทุกภาคส่วนที่จะต้องเข้าเป็นพลังที่สำคัญในการขับเคลื่อนอย่างจริงจังพัฒนาองค์กรให้เกิดการตื่นตัวอยู่อย่างสม่ำเสมอ เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ( Innovation Organization)   พัฒนาระบบการทำงานที่สามารถสร้างทิศทางการทำงานใหม่ ด้วยการถอดบทเรียน ศึกษาวิจัย   และพัฒนา

                          หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการร่วมมือกันของทุกระดับรวมทั้งภาคีภาคส่วนต่าง ๆ นั้นจะช่วยทำให้การแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้อย่างจริงจัง  และจะส่งผลลัพธ์ต่อความเป็นสังคมแห่งสันติสุขได้  ในโอกาสนี้ กระผมและทีมรักษ์สันติทุกคน จะขอเดินหน้า เพื่อสานต่อวิสัยทัศน์ของเทศบาลตำบลปริก ที่ว่า เศรษฐกิจพอเพียง ร้อยเรียงวิถีชุมชน คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ประชาสังคมสันติสุข เพื่อให้พี่น้องประชาชนพลเมืองเทศบาลตำบลปริก     ได้อยู่ดีมีสุข  โดยทั่วหน้ากันต่อไป ครับ